ยาแก้ปวด (analgesic)

#ยาแก้ปวด #ยาแก้ไข้ #ยาพารา #ยาพาราเซตามอล

ยาแก้ปวด เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวด ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน ปวดปวดฟัน หรืออาการปวดจากสาเหตุอื่น เช่นการบาดเจ็บ การผ่าตัด ปวดจากการเป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น

อาการปวดแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ

1. อาการปวดแบบเฉียบพลัน (Acute Pain) เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ปวดไม่เกิน 6 เดือน มีสาเหตุชัดเจน อาการปวดแบบเฉียบพลันได้แก่ ปวดแผลผ่าตัด ปวดฟัน ปวดจากกระดูกหัก แผลไฟไหม้ เป็นต้น

2. อาการปวดแบบเรื้อรัง (Chronic Pain) เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน เกิน 6 เดือน อาการปวดจะยังคงดำรงอยู่ แม้สาเหตุของอาการปวดเช่นการบาดเจ็บ หรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ จะหายไปแล้วก็ตาม อาการปวดแบบเรื้อรังได้แก่ ปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดมะเร็ง ปวดประสาท ปวดหลังเรื้อรัง ปวดจากข้ออักเสบ เป็นต้น

ชนิดของยาแก้ปวด แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้

1 กลุ่มที่ไม่เสพติด (Non Narcotic/Opioid Analgesics) ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ระงับปวดได้ไม่สูงนัก สามารถบรรเทาอาการปวดได้ตั้งแต่ระดับรุนแรง น้อยถึงปานกลาง ยาเหล่านี้มักจะมีฤทธิ์ลดไข้อยู่ด้วย ยาจะออกฤทธิ์ระงับปวดโดยยับยั้งการสร้างprostaglandin ที่ระบบประสาทส่วนปลาย ยาในกลุ่มที่ไม่เสพติดนี้ได้แก่

1.1 ยาพาราเซตามอล จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป เช่น บาคามอล ไทลินอล ซาร่า เป็นต้น

1.2 ยากลุ่ม NSAIDs (ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์)เช่น ยา aspirin ibuprofen diclofenac piroxicam celecoxib etoricoxib เป็นต้น

ยาในกลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยา หาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

2. กลุ่มที่เสพติดได้(Narcotic/Opioid Analgesics ) เป็นยาที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการระงับปวดสูง ระงับอาการปวดแบบเฉียบพลันและรุนแรง เช่นอาการปวดที่เกิดขึ้นที่อวัยวะภายใน ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ และต้านการอักเสบ ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก และกดการหายใจ ใช้นาน ๆ ทำให้เกิดการติดยาได้ ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ morphine oxycodone methadone codeine fentanyl tramadol เป็นต้น

นอกจากการแบ่งยาแก้ปวดตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมียาที่ใช้รักษาโรคบางกลุ่มที่สามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ด้วยเช่น

  • ยา steroid
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า
  • ยาลดความวิตกกังวล
  • ยากันชัก

คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ปวดชนิดต่าง ๆ

1. แอสไพรินไม่ควรใช้ในเด็ก วัยรุ่น ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส เพราะอาจทำให้เกิด Reye’s syndrome (กลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและตับ)

2. ยาพาราเซตามอลไม่ควรรับประทานเกิน จากปริมาณที่กำหนดไว้ในฉลากกำกับยา เพราะจะส่งผลเสียต่อตับ

3. ยาในกลุ่ม NSAIDs มีผลข้างเคียงต่อไต และระคายเคืองกระเพาะอาหารจึงต้องระวังในเรื่องของการมีเลือดออกในกระเพาะโดยควรรับประทานหลังอาหารทันที ดื่มน้ำตามมาก ๆ ระวังในคนไข้โรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง

4. ยาแก้ปวดในกลุ่มที่เสพติดได้นั้น อาจทำให้คนไข้ติดยาได้ และทำให้มีอาการง่วงซึมจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ

ผลข้างเคียงของการใช้ยาแก้ปวด

ขึ้นอยู่กับชนิดของยาแก้ปวดที่เราใช้ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้บ่อย ได้แก่ ปวดท้อง ท้องผูก มึนงง ง่วงนอน เป็นผื่นคันตามผิวหนัง ปากแห้ง คอแห้ง มีเสียงผิดปกติในหู เป็นต้น

ก่อนใช้ยาควรอ่านฉลากยาให้ครบถ้วน ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานะคะ

ที่มา

https://www.rxlist.com/pain_medications/drug-class.htm

https://www.webmd.com/pain-management/guide/pain-relievers#2

https://www.webmd.com/pain-management/pain-management#1

--

--

แข็งแรง.com
แข็งแรง.com

Written by แข็งแรง.com

แข็งแรง.com เป็นกลุ่มแพทย์และเภสัชกรที่สนใจในเรื่องข้อมูลสุขภาพ อยากแบ่งปันเรื่องราวด้านสุขภาพและการดูแลตัวเอง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและมีสุขภาพที่ดี

No responses yet