รู้เรื่องโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
โรคกระดูกพรุน คือโรคของกระดูกที่มีการลดลงของมวลกระดูก และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อกระดูกหักมากขึ้น
ความแข็งแรงของกระดูก เราสามารถประเมิน ได้โดยการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก BMD ซึ่งถ้าอายุมากขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ตรวจค่า BMD
ลองมาดูวิธีการตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกกันนะคะ จะมีหลายวิธีค่ะ
: Single photon absorptiometry (SPA)
: Dual energy X-ray absorptiometry (DXA)
: Quantitative computed tomography (QCT)
: Quantitative ultrasound (QUS)
DXA ถือเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนเนื่องจากมีความแม่นยำที่สุดใช้ติดตามการรักษาได้ ตรวจกระดูกได้หลายตำแหน่งพร้อมกัน ขณะที่ใช้ปริมาณรังสีน้อย
ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของการเปรียบเทียบค่าความหนาแน่นกระดูกที่วัดได้ในหน่วยกรัมต่อตารางเซนติเมตรกับค่าความหนาแน่นมวลกระดูกสูงสุด(อายุประมาณ 30 ปี) ในกลุ่มประชากรสุขภาพดีเพศเดียวกัน เชื้อชาติเดียวกันเราเรียกค่านี้ว่า T-score
เป็นโรคกระดูกพรุนหรือยัง ดูอย่างไร
สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือนและชายที่อายุมากกว่า 50 ปี
ค่า T-scoreน้อยกว่าหรือเท่ากับ -2.5 ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
ค่า T-score อยู่ในช่วงกระดูกพรุนและมีกระดูกหักร่วมด้วย ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุนชนิดรุนแรง
ค่า T-score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 ถือว่าเป็นภาวะกระดูกบาง
ค่า T-score มากกว่า -1 ถือว่าปกติ
ส่วนในกลุ่มเด็กและหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนและชายอายุน้อยกว่า 50 ปี จะใช้ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของการเปรียบเทียบค่าความหนาแน่นกระดูกที่วัดได้ในหน่วยกรัมต่อตารางเซนติเมตรกับค่าความหนาแน่นมวลกระดูกในกลุ่มประชากรสุขภาพดีอายุเท่ากัน เพศเดียวกัน เชื้อชาติเดียวกันที่เรียกว่า Z-score เป็นตัวกำหนดโดย
ค่า Z-score มากกว่า -2.0 ถือว่าความหนาแน่นกระดูกปกติเมื่อเทียบกับคนอายุท่ากัน
ค่า Z-score น้อยกว่าหรือเท่ากับ -2.0 ถือว่าความหนาแน่นกระดูกน้อยเมื่อเทียบกับคนอายุท่ากัน
กระดูกพรุน เกิดได้อย่างไร
โดยปกติร่างกาย ต้องมีกระบวนการปรับแต่งกระดูกโดยมีการสลายกระดูกเก่า ขณะเดียวกันก็จะมีการสร้างกระดูกใหม่เกิดขึ้นโดยขบวนการนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดชีวิต เมื่อใดก็ตามหากมีสิ่งใดมารบกวนสมดุลในกระบวนการปรับแต่งกระดูกนี้ เช่น มีการกระตุ้นการทำงานของ เซลส์สลายกระดูกหรือ มีการขัดขวางการทำงานของ เซลส์สร้างกระดูก หรือกระบวนการสะสมแร่ธาตุเกิดได้ไม่เต็มที่ ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลงและนำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุนในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง
1. ภาวะหมดประจำดือนในสตรี ทำให้ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาท
ในการกระตุ้นการสร้างกระดูก และยับยั้งการสลายกระดูก รวมทั้งทำให้กระดูกที่เสียหายได้รับการซ่อมแซม
2. ปัจจัยอื่นๆที่กระตุันให้เกิดโรคขึ้น เราเรียกโรคกระดูกพรุนที่เกิดด้วยสาเหตุนี้ว่าโรคกระดูกพรุนทุติยภูมิ
ปัจจัยอื่นดังกล่าวได้แก่ โรคต่างๆ ยาบางชนิด แอลกอฮอล์ การขาดสารอาหาร การขาดวิตามินดี การสูบบุหรี่ เป็นต้น
การรักษาโรคกระดูกพรุน จะมี 2 แบบ คือการรักษาโดยไม่ใช้ยา และการรักษาโดยใช้ยา
1.การรักษาโดยไม่ใช้ยา
โดยแนะนำให้
: ออกกำลังกาย เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่
: หลีกเลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงต่างๆเช่น บุหรี่ ยาบางชนิดที่ทำให้เกิดกระดูกพรุน
: ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีเพียงพอ โดย แคลเซียมควรได้รับ 1200 มิลลิกรัมต่อวัน การรับแคลเซียมจากอาหารจะดีกว่า
แคลเซียมเสริม ควรได้รับวิตามินดี 800–1000 IU ต่อวัน
2. การรักษาด้วยยา
ยารักษาโรคกระดูกพรุนซึ่งมีหลายกลุ่ม ตามกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ตามเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละคนค่ะ
โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบ นะค่ะ ดังนั้นเราจึงควรดูแลสุขภาพกระดูกของเราแต่เนิ่นๆนะคะ อย่ารีรอค่ะ